Last updated: 22 ม.ค. 2563 | 1507 จำนวนผู้เข้าชม |
“ค่าขนส่ง” กับ “ค่าเช่ารถ”
การประกอบธุรกิจจะมีสองประเภทด้วยกัน คือ “กิจการขายสินค้า” กับ “กิจการให้บริการ” ซึ่งประมวลรัษฎากรได้ให้ความหมายของกิจการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) ไว้ดังนี้ “บริการ” หมายถึง การกระทำใดๆ อันอาจ
หาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า
ธุรกิจให้บริการ “ขนส่ง”
การประกอบธุรกิจขนส่งถือเป็นกิจการให้บริการประเภทหนึ่ง ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิช์มาตรา 608 ให้ความหมายของคำว่า “ขนส่ง” หมายถึง “อันว่าผู้ขนส่งภายในความหมายแห่งกฎหมายลักษณะนี้ คือ บุคคลผู้รับขนส่งของหรือคนโดยสารเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน” จากความหมายของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 608 จึงสรุปได้ คือ ขนส่ง หมายถึง ขนคน หรือ ขนของ ส่งจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ซึ่งการประกอบธุรกิจขนส่งแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1. ขนส่งทางบก
2. ขนส่งทางเรือ
3.ขนส่งทางอากาศยาน
ค่าขนส่ง
การให้บริการขนส่งสินค้าทางบกได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งนี้ตามมาตรา 81 แห่งประมวลรัษฎากรที่ได้กำหนดไว้ ดังนี้ “มาตรา 81 (1)(ณ) การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร” และ “มาตรา 81(1)(ด) การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งมิใช่เป็นการขนส่งโดยอากาศยาน หรือเรือเดินทะเล”
ดังนั้น กิจการ “ขนส่งทางบก” ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และจะขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ อันเนื่อง จากกฎหมายยกเว้นไว้ ไม่ได้ให้สิทธิเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และหากผู้ว่าจ้างเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าขนส่ง แต่ไม่รวมถึงการจ่ายค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น
1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0
คำว่า “การขนส่งสาธารณะ ” หมายความว่า การรับส่งผู้โดยสารเป็นการทั่วไปเป็นปกติธุระ ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบกิจการให้บริการ “ขนส่ง” จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และจะถูกผู้จ่ายเงินเป็นนิติบุคคลหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ไม่ว่าผู้ประกอบการให้บริการ “ขนส่ง” จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม
ค่าเช่ารถ
การนำทรัพย์สินออกให้เช่าถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร การนำรถยนต์ออกให้เช่าจึงเป็นกิจการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ หากกิจการมีรายได้ต่อปี 1,800,000 บาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 537 ได้ให้ความหมาย “การเช่าทรัพย์สิน” ไว้ ดังนี้
“การเช่าทรัพย์สิน หมายถึง สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น”
ดังนั้น การให้เช่าทรัพย์สินจะต้องเข้าองค์ประกอบ ดังนี้
1. ผู้เช่าจ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งการได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า
2. มีกำหนดระยะเวลา
เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าเช่าหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่รวมถึงค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น
1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5.0
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย นอกจากที่ระบุใน (3) หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5.0
3. มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 10.0
4. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทยนอกจากที่ระบุใน (3) เฉพาะที่เป็นค่าเช่าเรือตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมพาณิชย์นาวีที่ใช้ในการขนส่งระหว่างประเทศ หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0
1 ส.ค. 2567
1 ก.ค. 2567
29 มิ.ย. 2567