Last updated: 20 ม.ค. 2563 | 2816 จำนวนผู้เข้าชม |
ลูกหนี้การค้า
ลูกหนี้การค้า ถือเป็นหัวใจหลักที่กระทบกับสภาพคล่องของธุรกิจ ถ้าธุรกิจบริหารจัดการ ลูกหนี้การค้าไม่ดี ติดปัญหารายได้ค้างรับ คือขายของเป็นเงินเชื่อแล้วไม่สามารถเก็บเงินได้ ต้องเกิดบัญชีลูกหนี้การค้า ขึ้น หรือต้องแทงลูกหนี้การค้าเป็นหนี้สูญ ธุรกิจมีปัญหาเงินขาดมือ ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อหมุนเงิน สุดท้ายส่งผลกระทบมายังนักลงทุนที่อาจไม่ได้รับเงินปันผล เนื่องจากบริษัทมีเงินสดขาดมือ ขาดสภาพคล่องในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียน ดังนั้นนักลงทุนควรเลือกลงทุนกับบริษัทที่มีความสามารถในการจัดการหนี้สินได้เป็นอย่างดี
โดยสรุปแล้วคำว่า ลูกหนี้การค้า ก็คือลูกหนี้จากการทำธุรกิจของกิจการ เพราะลูกหนี้การค้าคือช่องทางการรั่วไหลของเงินที่ดีมากในงบการเงิน เรียกว่าถ้าโกงกันเมื่อไหร่ เขาจะชอบโกงกันที่นี่เป็นหลักกันเลย ลูกหนี้การค้าจึงมีความสำคัญในการวิเคราะห์งบการเงินนั่นเอง
โดยปกติแล้วลูกหนี้การค้าจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ลูกหนี้การค้า และ ลูกหนี้อื่น หากสงสัยว่าลูกหนี้การค้า หมายถึงอะไร แนะนำให้อ่านเลย รับรองว่าได้คำตอบแน่นอนว่าลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น คืออะไร
1. ลูกหนี้การค้า ( Trade Receivable )
คือ ลูกหนี้ที่เกิดจากการดำเนินการค้าตามปกติของธุรกิจ และจะมีชื่อบัญชีแตกต่างกันได้ตามประเภทของธุรกิจ เช่น ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ หมายถึงบัญชีระหว่างธนาคารที่มีดอกเบี้ย เงินให้สินเชื่อ และดอกเบี้ยค้างรับกิจการประกันภัย หมายถึงบัญชีเบี้ยประกันภัยค้างรับ เงินค้างรับเกี่ยวกับการประกันต่อและเงินให้กู้ยืม
2. ลูกหนี้อื่น ๆ ( Other Receivable )
คือ ลูกหนี้ที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินการค้าตามปกติของธุรกิจ ลูกหนี้ที่เกิดจากรายการค้าประเภทอื่นที่มีลักษณะแตกต่างกันไปนอกเหนือจากการขายสินค้าหรือบริการ เช่น
- เงินกู้ให้ยืม เช่น เงินให้กู้ยืมแก่พนักงานและลูกจ้าง เงินให้กู้ยืมแก่บริษัทย่อย เงินให้กู้ยืมแก่บริษัทร่วม
- เงินมัดจำ เช่น เงินมัดจำที่จ่ายให้ผู้ขายเพื่อรับประกันการจ่ายเงิน เงินมัดจำความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
- รายได้ค้างรับ เช่น เงินปันผลค้างรับ ดอกเบี้ยค้างรับ
- สิทธิเรียกร้อง เช่น สิทธิเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยให้ชดใช้ค่าสินไหมเมื่อเกิดอุบัติเหตุ สิทธิเรียกร้องต่อรัฐบาลสำหรับการรับเงินภาษีคืน
วิธีการวิเคราะห์ ลูกหนี้การค้า
1. สัดส่วนของลูกหนี้ต่อรายได้
สำหรับการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้การค้าไม่ใช่เรื่องที่อันตรายแต่อย่างใด หากบริษัทนั้นมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าสัดส่วนการขายเครดิตย่อมเพิ่มมากขึ้นเป็นเรื่องปกติ เช่น หากรายได้เพิ่ม 20% และลูกหนี้การค้าเติบโตประมาณ 20% ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ไม่น่าห่วงอะไร เพราะขอให้สัดส่วนลูกหนี้ต่อรายได้ค่อนข้างคงที่ถือว่าไม่เป็นสัญญาณอันตรายใด ๆ
2. คุณภาพของลูกหนี้การค้า
วิธีตรวจสอบคุณภาพของลูกหนี้การค้าว่าจะมีโอกาสเก็บหนี้ได้หรือไม่คือการเข้าไปดูที่หมายเหตุประกอบงบการเงิน หัวข้อลูกหนี้การค้า เพราะจะระบุถึงงบการเงินช่วงระยะเวลาที่ค้างชำระที่เกินกำหนดอยู่ ซึ่งหากบริษัทใดมีลูกหนี้การค้าค้างชำระเพิ่มมากขึ้น จะถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดี ต้องเปรียบเทียบการเติบโตเป็นสัดส่วนต่อยอดขายรวมด้วย
3. จำนวนลูกหนี้การค้า
นักลงทุนต้องวิเคราะห์ประเด็นนี้เสมอว่า มีความเสี่ยงสูงมากแค่ไหนในการโดนเบี้ยวหนี้ จำนวนลูกหนี้การค้าหากไม่ระบุอยู่ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ซึ่งสามารถสอบถามกับบริษัทได้ ยิ่งลูกหนี้การค้าน้อยราย นักลงทุนยิ่งต้องวิเคราะห์ลูกหนี้การค้าให้ละเอียดมากขึ้นเท่านั้น เพราะลูกหนี้การค้าน้อยรายอันตรายกว่าลูกหนี้การค้ามากรายเสมอ เพราะเมื่อไหร่ถูกเบี้ยวหนี้ การมีลูกหนี้การค้าน้อยรายจะส่งผลต่อกิจการอย่างมาก ธุรกิจอาจพลิกเป็นขาดทุนได้เลยโดยเฉพาะธุรกิจจำพวก B2B และ OEM
4. ความสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้กับลักษณะกิจการ
สิ่งที่ต้องวิเคราะห์อีกอย่างหนึ่งคือ ปริมาณลูกหนี้การค้ามีความเหมาะสมกับลักษณะกิจการไหม เช่นธุรกิจ B2B มักมีลูกหนี้การค้าสูงเป็นธรรมชาติ ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร โรงพยาบาล หรือกลุ่ม B2C มักจะมีลูกหนี้การค้าที่ต่ำ นักลงทุนต้องวิเคราะห์ว่าลักษณะกิจการสัมพันธ์กับลูกหนี้การค้าไหม เช่นถ้าเป็นธุรกิจร้านอาหาร แต่กลับมีลูกหนี้การค้าสูงมาก เมื่อเทียบกับกิจการอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน แบบนี้ต้องไปวิเคราะห์ว่าเกิดจากสาเหตุใดเหมาะสมหรือไม่
การดำเนินธุรกิจสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการบริหารจัดการ ลูกหนี้การค้า ให้อยู่ในฐานะที่พอเหมาะสมควรต่อกิจการของบริษัท แต่ให้ดีคือสามารถจัดการกับการเก็บหนี้ได้ ไม่มีหนี้สูญเกิดขึ้น เพราะย่อมส่งผลให้ธุรกิจติดขัด ไม่มีกำไร ไม่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน
1 ส.ค. 2567
1 ก.ค. 2567
29 มิ.ย. 2567