Last updated: 19 ธ.ค. 2562 | 73933 จำนวนผู้เข้าชม |
ทำความรู้จัก “งบการเงิน” แบบง่ายๆ
งบการเงิน (Financial Statement) คือ รายงานทางการเงินและบัญชีที่มีแบบแผน เพื่อแสดงฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดของกิจการ ในแต่ละงวดบัญชี
องค์ประกอบของงบการเงินมีอะไรบ้าง ?
1. งบแสดงฐานะการเงิน (Statement of Finanacial Position)
2. งบกำไรขาดทุน (Profit and Loss Statement)
3. งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนผู้ถือหุ้น (Statement of Changes Equity)
4. งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement)
5. หมายเหตุประกอบงบการเงิน (Note to Financial Statement)
1. งบแสดงฐานะการเงิน (Statement of Finanacial Position)
จะเป็นงบแสดงฐานะทางการเงินของกิจการ โดยงบแสดงฐานะทางการเงิน จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ
สินทรัพย์ หมายถึง ทรัพยากรที่กิจการครอบครองอยู่แล้วและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต ซึ่งสินทรัพย์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. สินทรัพย์หมุนเวียน หมายถึง สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว หรือสินทรัพย์ที่คาดว่าจะได้ใช้ประโยชน์ภายในระยะเวลา 1 ปี
2.สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน หมายถึง สินทรัพย์ที่กิจการต้องถือไว้ยาวนานมากกว่า 1 ไม่ เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อย เช่น ที่ดิน อาคาร เป็นต้น
หนี้สิน หมายถึง ภาระผูกพันของกิจการในปัจจุบัน เป็นภาระที่จะส่งผลให้กิจการเสียผลประโยชน์ทางทรัพยากรที่มีประโยชน์ในอนาคต แต่หนี้สินบางประเภทก็มีผลดีกับกิจการเช่น หนี้สินการค้า เพราะเป็นหนี้สินระยะสั้นไม่มีดอกเบี้ย ส่งผลทำให้กิจการมีประแสเงินสดหมุนเวียนในกิจการมากขึ้น โดยหนี้สินแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้
1.หนี้สินหมุนเวียน หมายถึง หนี้สินระยะสั้นที่ต้องชำระภายใน 1 ปี
2.หนี้สินไม่หมุนเวียน หมายถึง หนี้สินระยะยาวที่ต้องใช้เวลาในหารชำระมากกว่า 1 ปี
ส่วนของเจ้าของ หมายถึง ส่วนของเจ้าของกิจการที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสินทรัพย์ของกิจการหลังจากหักหนี้สินแล้ว
2. งบกำไรขาดทุน (Profit and Loss Statement)
จะเป็นงบที่แสดงผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบระยะเวลาหนึ่ง ว่าบริษัทมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่ โดยรอบระยะเวลาดังกล่าวอาจเป็น รายไตรมาส
กำไร = รายได้ - ค่าใช้จ่าย
โดยรูปแบบของงบกำไรขาดทุน หลักๆ จะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ งบกำไรขาดทุนแบบชั้นเดียว กับ งบกำไรขาดทุนแบบหลายชั้น ซึ้งงบกำไรขาดทุนทั้ง 2 แบบ จะต่างกันที่รายละเอียดของวิธีเขียน
แต่อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของ งบกำไรขาดทุน จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
รายได้ (Income) หมายถึง สินทรัพย์ที่กิจการได้รับมาจากการประกอบกิจกรรม ได้แก่ รายได้จากการขาย รายได้จากการเช่าหรือบริการ รายได้จากการลงทุน รายได้อื่นๆ
ค่าใช้จ่าย (Expense) หมายถึง ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายในการบริการ ต้นทุนทางการเงิน
กำไร หรือ ขาดทุนสุทธิ (Profit or Loss) หมายถึง ยอดรวมรายได้ที่หักด้วยยอดรวมค่าใช้จ่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้
1. งบกำไรขาดทุนแบบชั้นเดียว
จะเป็นการทำงบกำไรขาดทุน ด้วยการแยกรายได้และค่าใช้จ่ายออกจากกันแล้วทำการรวมรายได้ทั้งหมด เพื่อนำไปหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดทีเดียว เป็นกำไรหรือขาดทุนสุทธิในตอนท้าย
ข้อดีของ งบกำไรขาดทุนแบบชั้นเดียว คือทำง่ายกว่าแบบ งบกำไรขาดทุนแบบหลายชั้น
2. งบกำไรขาดทุนแบบหลายชั้น
จะเป็นรูปแบบของการทำ งบกำไรขาดทุน ด้วยการแสดงรายได้หักด้วยค่าใช้จ่ายเป็นชั้น ๆ
ข้อดีของ การทำ งบกำไรขาดทุนแบบหลายชั้น คือ จะทำให้เห็นรายละเอียดของข้อมูลทั้งหมดชัดเจน
3. งบแสดงการเปลี่ยนแปลงของเจ้าของ (Statement of Changes Equity)
จะเป็นงบที่แสดงรายละเอียดที่แสดงเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ ของกิจการหรือบริษัทนั้น ๆ โดยมีรายละเอียดในงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของระหว่างต้นงวดบัญชีและสิ้นงวดบัญชี เช่น กำไร(ขาดทุน)สะสม ทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว ส่วนเกินมูลค่าหุ้น แสดงผลสะสมจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีต่างๆ หุ้นที่ออกจำหน่าย กำไรสุทธิประจำงวด จ่ายเงินปันผล ยอดคงเหลือในส่วนของเจ้าของ
งบแสดงการเปลี่ยนแปลงของเจ้าของจึงมีหน้าที่แจกแจงรายละเอียดความเป็นมาเป็นไปในส่วนของเจ้าของนั่นเอง ซึ่งจะแสดงถึงความมั่งคั่งหรือความร่ำรวยของผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการ
จะช่วยให้คนอ่านงบเข้าใจว่าที่เจ้าของรายได้หรือรายจ่าย มีสาเหตุมาจากอะไรบ้างนั่นเองครับ
4. งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement)
จะเป็นงบที่แสดงเงินหมุนเวียนภายในกิจการ โดยแสดงว่าเงินนี้ได้มาอย่างไร ใช้อย่างไร ซึ่งงบกระแสเงินสด จะประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ
1. กิจกรรมดำเนินงาน หมายถึง กิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดรายได้และค่าใช้จ่ายของกิจการ
2. กิจกรรมลงทุน หมายถึง การได้มาและจำหน่ายสินทรัพย์ระยะยาวและเงินลงทุนอื่น ๆ ที่ไม่กระทบการดำเนินงาน
3. กิจกรรมจัดหาเงินทุน หมายถึง กิจกรรมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงรายการในส่วนของเจ้าของและส่วนของการกู้ยืม หาเงินมาหมุนเสียนในกิจการ เช่น กู้เจ้าหนี้หรือเพิ่มทุน
งบกระแสเงินสดช่วยบ่งบอกถึงประสิทธิภาพการทำกำไรของงบกำไรขาดทุนด้วยนะครับ เช่น ถ้าหากงบกำไรขาดทุนมีกำไรมากมายแต่ไม่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เป็นบวกอาจจะเป็นสัญญาณการตกแต่งบัญชีได้ครับ
5. หมายเหตุประกอบงบการเงิน (Note to Financial Statement)
รายการที่แสดงรายละเอียดเพิ่มเติมจากงบการเงิน เช่น นโยบายการทำบัญชีและเกณฑ์การจัดทำงบการเงิน ข้อมูลเพิ่มเติมที่ไม่ได้แสดงอยู่ในงบการเงิน
นโยบายการทำบัญชี เป็นสิ่งที่ทำให้งบการเงินของแต่ล่ะกิจการมีความแตกต่างกันดังนั้นผู้ใช้งานงบการเงินจะต้องอ่านก่อนว่ากิจการนั้น ใช้เกณฑ์การจัดทำงบการเงิน แบบใดก่อนที่จะอ่านงบการเงิน
ตัวอย่างรายการที่แสดงในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
- การรับรู้รายได้
- เจ้าหนี้การเค้า
- ลูกหนี้การค้า
- การตีมูลค่าสินค้าคงเหลือ
- การตัดค่าเสื่อมราคา
หากเราเข้าใจองค์ประกอบของงบการเงินอย่างครบถ้วนจะทำให้เราสามารถเข้าใจสภาพของธุรกิจได้ และสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการประกอบธุรกิจหรือควบคุมต้นทุนเพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงได้ครับผม
Cr.ภาษีง่ายๆ By Taxido
29 มิ.ย. 2567
1 ส.ค. 2567
1 ก.ค. 2567