ประเภทของภาษีอากร

Last updated: 28 พ.ย. 2562  |  13652 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประเภทของภาษีอากร

ประเภทของภาษีอากร
 
          ประมวลรัษฎากรเป็นชื่อของกฎหมายภาษีอากรฉบับหนึ่ง มีผลใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 กฎหมายฉบับนี้เดิมเป็นที่รวมของกฎหมายภาษีอากรสำคัญหลายประเภท แต่ปัจจุบันเป็นที่รวมของกกฎหมายภาษีอากรเพียง 4 ประเภทด้วยกัน คือ
 
          ประเภทที่ 1 ภาษีเงินได้ แบ่งเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีนี้จัดเป็นภาษีทางตรงประเภทหนึ่ง
 
               ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่เก็บจากเงินได้ของบุคคลธรรมดานั่นเอง บุคคลธรรมดาผู้ที่มีเงินได้ไม่ว่าประเภทใดชนิดใด ถ้าไม่มีกฎหมายยกเว้นให้แล้วมักอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีนี้ด้วย ซึ่งผู้ที่มีเงินได้ที่อยู่ในข่ายเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นแบ่งได้เป็น 4 ประเภท
 
- บุคคลธรรมดา
- ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
- กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
- ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
 
               ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีอากรประเภทหนึ่งที่บัญญัติไว้ ในประมวลรัษฎากร จัดเก็บจากเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และหมายความรวมถึงนิติบุคคลอื่น ๆ
ที่ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย 
 
          บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล มีดังนี้
 
1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้แก่
 
- บริษัทจำกัด บริษัทมหาชน จำกัด
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด
- ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน
 
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ได้แก่
 
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทำกิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทำกิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย และกิจการที่ทำนั้น เป็นกิจการประเภทการขนส่งผ่านประเทศต่าง ๆ
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินพึ่งประเมินประเภทที่ 2, 3, 4, 5, หรือ 6 ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้ หรือผลกำไรในประเทศไทย
                 
3. กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้าหรือหากำไร โดย
 
- รัฐบาลต่างประเทศ
- องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ
- นิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ       
         
4. กิจการร่วมค้า ได้แก่กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไรระหว่างบุคคลดังต่อไปนี้
 
- บริษัทกับบริษัท
- บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
- ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
- บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น
 
5. มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศกำหนดให้เป็น
องค์การสาธารณกุศล
 
6. นิติบุคคลอื่นที่อธิกรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้
 
          ประเภทที่ 2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ เป็นภาษีที่เก็บจากผู้ขายสินค้าในประเทศ การให้บริการในประเทศ และการ นำเข้าสินค้า ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพเป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือนิติบุคคลใด ๆ หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี
 
       ประเภทที่ 3 ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากรเป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่จัดเก็บจากการบริโภคและเริ่มใช้บังคับใน พ.ศ.2535 พร้อมกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
 
          ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ มีองค์ประกอบ 3 ประการด้งต่อไปนี้
- เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือนิติบุคคล
- ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
- ประกอบกิจการในราชอาณาจักร
 
        ประเภทที่ 4 อากรแสตมป์ คือ ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง จัดเก็บจากการทำตราสาร 28 ลักษณะ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้